Wednesday, 30 October 2024

สาเหตุนอนกัดฟัน

5 สาเหตุนอนกัดฟัน 3 ผลกระทบ 3 วิธีแก้นอนกัดฟัน

5 สาเหตุนอนกัดฟัน 3 ผลกระทบ 3 วิธีแก้นอนกัดฟัน

ปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่ได้มีเพียงแค่​ นอนหลับยาก​ นอนไม่หลับ​ หรือหลับไม่สนิทเท่านั้น​ แต่ยังมีอีกหนึ่งอาการที่รบกวนการพักผ่อนของตนเอง​ และคนข้างๆ​ นั่นก็คือ​ การนอนกัดฟันนั่นเอง​  ซึ่งสาเหตุของการนอนกัดฟันนั้นคืออะไร​ มีผลเสียหรือไม่​ และจะแก้ไขได้อย่างไร​ บทความนี้มีคำตอบค่ะ

สาเหตุของการนอนกัดฟัน

1.​ มีฟันขึ้นใหม่

ในช่วงวัยเด็ก​ เป็นช่วงที่ร่างกายมีพัฒนาการและมีการเปลี่ยนแปลงได้มา​ก​ เมื่อมีฟันกรามจะงอกขึ้นมาใหม่​ ทำให้เกิดการกระทบกันของสันนูนด้านฟันบดเคี้ยว​ จึงอาจทำให้มีอาการนอนกัดฟันในช่วงที่นอนหลับ

2.​ มีความเครียด

การทำงานหนัก​ หรือใช้ชีวิตประจำวันที่เคร่งเครียดมากเกินไป​ อาจส่งผลกระทบให้นอนกัดฟัน​ โดยที่เราไม่รู้สึกตัว

3.​ ฟันซ้อน​ ฟันเก

ผู้ที่มีปัญหาฟันซ้อน​ ฟันเก​ จะส่งผลให้มีการสบฟันที่ผิดปกติ​ ฟันเกบางซี่จะมีบางส่วนที่สูงกว่าระดับปกติ​ ซึ่งจะเป็นจุดกระทบกระแทกกับฟันซี่ตรงข้ามก่อนฟันซี่อื่น​ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้นอนกัดฟันได้

4.​ โรคปริทันต์

ผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบรุนแรง​ หรือโรคปริทันต์​ ตัวฟันอาจมีการโยกคลอน​ และลอยตัวจากเบ้ากระดูกที่รองรับฟัน​ ทำให้เกิดการสบฟันที่ผิดปกติ​ ส่งผลให้อาจเกิดการนอนกัดฟันได้

5.​ ขากรรไกรมีความผิดปกติ

การนอนกัดฟัน​ อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีความผิดปกติของขากรรไกร​ เช่น​ ขากรรไกรค้างบ่อย​ การสึกของกระดูกรองรับข้อต่อขากรรไกร​ อาจทำให้ขากรรไกรเคลื่อนที่มาชิดกัน​ จึงส่งผลให้ฟันมีการกระทบกัน​ หรือกัดฟันในเวลาที่นอนหลับได้

ผลเสียการนอนกัดฟัน

1.​ รบกวนการนอนหลับทั้งตนเองและคนใกล้ตัว

บางรายเมื่อนอนกัดฟันมาก ๆ​ อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่บริเวณใบหน้า​ เมื่อตื่นมาอาจรู้สึกว่าเหมือนนอนหลับไม่สนิท​ รู้สึกเมื่อยล้าบริเวณขากรรไกร​ นอกจากนี้เสียงกระทบกันของฟันก็ยังรบกวนคนใกล้ตัวอาจทำให้พาลนอนไม่หลับ​ หรือหลับไม่สนิทไปด้วย

2.​ ฟันสึกกร่อน​ เสียวฟัน

เมื่อนอนกัดฟันบ่อย ๆ เข้า​ ฟันจะเกิดการสึกกร่อนได้เร็วกว่าปกติ​ อาจก่อให้เกิดเสียวฟันตามมา

3.​ ปวดขากรรไกร

เวลานอนได้มีการกัดฟันเป็นเวลาหลายชั่วโมง​ จะส่งผลกระทบถึงบริเวณข้อต่อขากรรไกร​ ทำให้มีอาการปวด​ ปวดทั้งเวลาที่เคี้ยวอาหาร​ หรือ​ เวลาปกติที่ไม่ได้รับประทานอะไร

วิธีแก้ไขนอนกัดฟัน

1.​ ลดความเครียด

ควรออกกำลังกายวันละนิดวันละหน่อย​ เพื่อช่วยบรรเทาความเครียดให้ลดลง​ หรือก่อนนอน​ หาเวลาทำสมาธิ​ นั่งสมาธิครั้งล่ะ​ 15-30​ นาที​ การฝึกจิตจะช่วยให้เรามีสติบรรเทาความคิดฟุ้งซ่าน​ และลดความเครียดลงได้

2.​ พบทันตแพทย์

หากมีปัญหาเกี่ยวกับฟันที่ใช้บดเคี้ยว​ หรือฟันมีรูปการสบฟันที่ผิดปกติ​ ควรพบทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาฟัน

3.​ ยางกัดฟัน

ในบางรายอาจมีการใช้ยางกัดฟันร่วมด้วย​ เพื่อลดการกัดกระแทกในเวลานอน

การนอนกัดฟัน​ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เป็นอาการเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน​ อาการนี้สามารถรักษาได้​ หากใครนอนกัดฟัน​ ให้รีบแก้ไข​ จะได้มีความสุขในการนอนหลับพักผ่อนที่ดีขึ้น