Thursday, 26 December 2024

รู้จักโรคเบาหวาน สาเหตุและวิธีการรักษา

โรคเบาหวานสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีอัตราการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งเบาหวานเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ จึงทำให้ออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงจนล้นปนออกมากับปัสสาวะ

สาเหตุของโรคเบาหวาน

เรายังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าโรคเบาหวานเกิดจากปัจจัยหลายประการเหล่านี้ ได้แก่

  1. ความอ้วน ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย และมีภาวะความเครียดสูง จึงทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินไม่ดีเท่าที่ควร
  2. กรรมพันธุ์ ในครอบครัวที่มีประวัติเคยเป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น
  3. อายุมากขึ้น ตับอ่อนมีการสร้างอินซูลินที่ลดน้อยลง
  4. โรคเกี่ยวกับตับอ่อน เช่น การผ่าตัดตับอ่อน โรคมะเร็งตับอ่อน และตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากการดื่มสุรา เป็นต้น
  5. การติดเชื้อไวรัส ทำให้ตับอ่อนถูกทำลายจากร่างกายจนเกิดภูมิต้านทานต่อเซลล์ของตับอ่อน
  6. ภาวะตั้งครรภ์ เมื่อฮอร์โมนจากรกมีผลยับยั้งการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลายครั้งจึงมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน
  7. ยาบางชนิด ถ้าใช้นานๆ จะมีโอกาสทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

 

อาการของโรคเบาหวาน

ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติเล็กน้อยอาจจะยังไม่มีอาการใดๆ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง และภาวะแทรกซ้อนจากการควบคุมโรคที่ไม่ได้ผล ได้แก่ การปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก หิวน้ำบ่อยจากการสูญเสียน้ำไปในรูปของปัสสาวะ รับประทานอาหารบ่อยแต่น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว มีอาการชาที่ปลายมือและปลายเท้า

 

ชนิดของโรคเบาหวาน

                โรคเบาหวานชนิดที่ 1 พบมากในเด็กและวัยรุ่นที่มีรูปร่างผอม เนื่องจากความผิดปกติของร่างกาย ที่เกิดการอักเสบและมีการทำลายเซลล์ของตับอ่อนจนหมด ทำให้สร้างอินซูลินไม่ได้

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะพบในเพศหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจจะมีรูปร่างอ้วนหรือปกติ และมีประวัติครอบครัวซึ่งเคยเป็นโรคเบาหวานที่มีสาเหตุจากร่างกายสร้างอินซูลินไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ

โรคเบาหวานชนิดอื่นๆ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การได้รับยาบางชนิด

โรคเบาหวานจากการตั้งครรภ์ สามารถพบได้ขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 เนื่องมาจากผลการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งไปต้านฤทธิ์ของอินซูลิน แต่ภายหลังคลอดส่วนใหญ่โรคเบาหวานจะหายไปเอง ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนจะมีโอกาสเป็นเมื่ออายุมากขึ้น

 

เกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานสามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด โดยมีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคดังนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 126 มก./ ดล.
  • ระดับน้ำตาลในเลือดจากการตรวจเวลาใดก็ได้ มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 200 มก./ ดล. ร่วมกับมีอาการของโรคเบาหวาน เช่น ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย

ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวานควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป

 

การดูแลตนเองเมื่อพบว่าเป็นโรคเบาหวาน

การควบคุมอาหารเป็นหัวใจสำคัญ โดยปฏิบัติควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและการรักษา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมทั้งน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที และ 4 – 5 วันต่อสัปดาห์ และควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์นัด เพื่อการรักษาที่เหมาะสมของโรคเบาหวานแต่ละชนิด ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

 

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ หากปฏิบัติตนอยู่ในความระมัดระวัง หมั่นตรวจดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ก็จะอยู่ห่างไกลจากโรคนี้ได้อย่างแน่นอน