Sunday, 6 October 2024

EQ ความฉลาดทางด้านอารมณ์

EQ คืออะไร

อีคิว หรือ E.Q. มาจากคำว่า Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถทางอารมณ์ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปไปอย่างสร้างสรรค์และมีความสุขการดำเนินชีวิตเป็น  อีคิวถือเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการศึกษาและจิตวิทยาเพราะเพิ่งได้รับความสนใจและยอมรับในความสำคัญอย่างจริงจังเมื่อ 10 กว่าปีมานี้ เดิมเคยเชื่อกันว่า ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีและมีความสุข

ในปี ค.ศ. 1990 ชาโลเวย์และเมเยอร์สองนักจิตวิทยาได้กล่าวถึงความฉลาดทางอารมณ์ เป็นครั้งแรกว่า “เป็นรูปแบบหนึ่งของความฉลาดทางสังคมที่ประกอบด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น สามารถแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้นและใช้ข้อมูลนี้เป็นเครื่องชี้นำในการคิดและกระทำสิ่งต่าง ๆ”  จากนั้น แดเนียล โกล์แมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวารด์ ได้ให้ความหมายของ อีคิว ว่า “เป็นความสามารถหลายด้าน ได้แก่ การเร่งเร้าตนเองไปสู่เป้าหมายมีความสามารถควบคุมความขัดแย้งของตนเอง รอคอยเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่สบายต่าง ๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง”

ในปัจจุบันเรามักจะเห็นผู้คนแนะนำให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการทางด้าน EQ หรือความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotional Quotient) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากความฉลาดทางด้านสติปัญญาที่ควรต้องมี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและยังเป็น 1 ใน 10 ทักษะสำคัญในการทำงานอีกด้วย โดยแบ่งออกได้เป็น 5 ด้าน

 

  1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self – Awareness)

ข้อนี้กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา EQ ที่เราต้องมีความเข้าใจและรู้จักตนเองว่าเป็นคนอารมณ์แบบไหนมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของเราอย่างไรและสิ่งนั้นส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง นั่นคือการตระหนักรู้ในตนเองว่าด้านไหนที่เป็นข้อดีของตัวเราหรือด้านไหนที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้นเราควรหมั่นฝึกสติอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีสติรับรู้ต่ออารมณ์ของตัวเอง

 

  1. การควบคุมตัวเอง (Self – Management)

เมื่อเราสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ของตัวเองกับผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อผู้อื่น จนกระทั่งสามารถจัดการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้แล้ว ก็จะช่วยให้เราแสดงพฤติกรรมต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม เช่น ทำงานกับเพื่อนร่วมงานแล้วรู้สึกหงุดหงิดก็ตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์หงุดหงิด จึงควบคุมตัวเองไม่ฟาดงวงฟาดงากับเพื่อนร่วมงาน แต่ถ้าวันนั้นยังทำได้ไม่ดีก็ควรให้กำลังใจตัวเองแล้วพยายามควบคุมตัวเองให้แสดงออกดีขึ้น

 

  1. ทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Social Skills)

คนที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มักจะมีทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่ดีอย่างเช่นการให้เกียรติผู้อื่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การสื่อสารด้วยคำพูดและน้ำเสียงที่ดี ซึ่งช่วยให้บรรยากาศการอยู่ร่วมกันนั้นดีจนใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้ด้วยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นควรฝึกการชื่นชมผู้อื่นด้วยความจริงใจ ให้กำลังใจผู้อื่นบ้าง และหัดเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยเช่นกัน

 

  1. การเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

เป็นความสามารถที่เราเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้อื่นและให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ถ้าเขารู้สึกเศร้าหรือกังวลก็จะรับฟังอย่างตั้งใจ สังเกตลักษณะน้ำเสียง แววตา สีหน้า และภาษากายหรือท่าทางที่เขาแสดงออกมา แต่ต้องใส่ใจกับคนที่คุยด้วยจริง ๆ ไม่ใช่ว่าทำอย่างอื่นไปด้วย

 

  1. การจูงใจ (Motivation)

หมายถึงเป็นคนที่มีแรงจูงใจจากภายในหรือ Intrinsic motivation ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนจากภายในมากกว่าการใช้แรงจูงใจจากภายนอก External motivation อย่างเช่นชื่อเสียง เงินทอง และการได้รับการยอมรับ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายในแต่ละวันทั้งเป้าหมายเล็กและเป้าหมายใหญ่ จากนั้นให้กำลังใจตนเองว่าเราต้องทำได้ แล้วลงมือทำให้บรรลุเป้าหมายอย่างไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคจนประสบความสำเร็จ

 

หากเราเข้าใจถึงความสำคัญและข้อดีของความฉลาดทางด้านอารมณ์หรือ EQ แล้ว เราลองมาฝึกฝนพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดีอย่างมีความสุขและมีพฤติกรรมที่เหมาะสมอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

มารู้จักกับ IQ EQ AQ MQ SQ กันดีกว่า
IQ คืออะไร
AQ คืออะไร
MQ คืออะไร
SQ คืออะไร