นอกจาก IQ กับ EQ ที่ผู้คนพูดถึงกันบ่อย ๆ ว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นแล้ว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ AQ หรือ Adversity Quotient ซึ่งเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่คนทำงานยุคนี้ควรต้องมี
AQ คืออะไร
AQ หรือ Adversity Quotient หมายถึง ความฉลาดทางด้านการแก้ปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะมีอุปสรรคยากลำบากให้ผ่านไปได้ด้วยดี
ความสำคัญของ AQ ต่อการทำงาน
ในอดีตแต่ละองค์กรส่วนใหญ่มักจะวัดระดับความสามารถหรือศักยภาพของคนด้วย IQ หรือความฉลาดทางด้านสติปัญญาเพื่อดูความสามารถในเรื่องงาน และวัดระดับความฉลาดทางด้านอารมณ์หรือ EQ เพื่อดูความสามารถในเรื่องอารมณ์ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น อันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง
เมื่อโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ อาจต้องพบกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาด การเมือง และเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย เพราะฉะนั้น AQ จึงเป็นอีกทักษะหนึ่งที่คนทำงานจำเป็นต้องมี เพื่อช่วยในการรับมือแก้ปัญหาหรือความท้าทายแปลกใหม่ที่ยากเกินกว่าจะใช้แค่เพียง IQ กับ EQ ได้
การแบ่งลักษณะคนตาม AQ
ถ้าในการทำงานมีอุปสรรคหรือปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่ข้างหน้า เราจะแบ่งผู้คนตามระดับ AQ ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- Quitter มีระดับ AQ ต่ำและเป็นกลุ่มคนที่ถอดใจได้ง่าย มองทุกปัญหาว่ายากเกินไปจนไม่สามารถคิดหาหนทางแก้ไขได้ ปฏิเสธทุกความท้าทายโดยไม่ลองพยายามเสียก่อน หรือกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่คิดจะพัฒนาตัวเอง ซึ่งมีผลทำให้องค์กรไม่ก้าวหน้าในอนาคตอีกด้วย
- Camper มีระดับ AQ ปานกลาง แม้ว่าจะมองเห็นปัญหาหรืออุปสรรคที่ค่อนข้างยาก แต่ก็ยังมีพลังกายและพลังใจที่จะพยายามเอาชนะให้ได้ บางครั้งที่รู้สึกเหนื่อยและท้อก็ถอยกลับไปตั้งหลักก่อน โดยยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ คนกลุ่มนี้มักจะมีผลงานระดับกลาง ๆ เพราะไม่หนีปัญหาแต่ก็ไม่กล้าท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากอาจจะติดกับ Comfort Zone ของตัวเอง ทำให้หัวหน้างานต้องคอยช่วยกระตุ้นสร้างแรงจูงใจหรือมอบหมายงานที่มีความท้าทายมากขึ้น
- Climber มีระดับ AQ สูง ไม่ว่าปัญหาและอุปสรรคจะยากลำบากเพียงไหน คนกลุ่มนี้จะมีเป้าหมายชัดเจนและพร้อมจะทำทุกวิถีทางให้ก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ มีความอดทน ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก แสวงหาประสบความสำเร็จ รู้จักพัฒนาตัวเองและองค์กรอยู่เสมอ จึงเป็นบุคลากรที่มีค่าอย่างยิ่งขององค์กร
เห็นความแตกต่างของ AQ แต่ละกลุ่มแล้ว ลองสำรวจตัวเองกันว่าเรามี AQ หรือยัง และจัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทไหน อย่าลืมพัฒนา AQ ให้เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาด้วยนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
มารู้จักกับ IQ EQ AQ MQ SQ กันดีกว่า
IQ คืออะไร
EQ คืออะไร
MQ คืออะไร
SQ คืออะไร